
เนื้อหาของรายวิชาวิทยาศาสตร์ในช่วงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 นี้ จะเป็นการเรียนในลำดับสุดท้ายก่อนที่จะขึ้นสู่ช่วงชั้นมัธยมปลายที่มีการแยกแขนงของวิชาวิทยาศาสตร์ออกจากกันอย่างชัดเจน คือ วิชาฟิสิกส์ วิชาเคมี และวิชาชีววิทยา นี่คือแขนงหลักๆ ที่ทุกหลักสูตรจะต้องมี นอกเหนือไปจากนี้ก็อาจจะมีการเสริมเป็นวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์เชิงวิศวกรรม เป็นต้น การจะเรียนเนื้อหาของวิทยาศาสตร์ระดับชั้นมัธยมปลายได้ดีก็ต้องมีพื้นฐานในช่วงชั้นมัธยมต้นที่ดีด้วย โดยเฉพาะเนื้อหาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 นี่เอง
สารพัดเทคนิคในการจดจำเนื้อหาที่สำคัญ
จริงๆ แล้วเนื้อหาในวิชาวิทยาศาสตร์จดจำได้ค่อนข้างง่าย เพราะไม่ได้มีรายละเอียดอะไรซับซ้อนเหมือนกับวิชาประวัติศาสตร์หรือวิชาเชิงปรัชญาอื่นๆ ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าเรารู้หรือไม่ว่าจุดไหนกันแน่ที่สำคัญ อะไรเป็นแก่นของเนื้อหา และอะไรเป็นแค่คำอธิบายเพิ่มความเข้าใจ ลองเอาเทคนิคเหล่านี้ไปใช้กันดู
– อ่านสารบัญจุดประสงค์การเรียนรู้ ถึงแม้ว่ามันจะดูไม่ค่อยเกี่ยวกับเนื้อหาโดยตรง แต่มันเป็นส่วนที่ทำให้เรามองเห็นภาพรวมทั้งหมดก่อน รู้ว่าอะไรที่เป็นประเด็นสำคัญบ้าง ก็จะช่วยให้เลือกจดจำได้อย่างถูกต้อง
– พยายามเชื่อมโยงเนื้อหาทั้งหมดเข้าด้วยกัน ถึงแม้ว่าในเวลาเรียนแต่ละบทดูคล้ายกับว่าจะไม่เกี่ยวข้องกัน แต่หากสังเกตให้ดีก็จะรู้ว่ามันมีบางอย่างเชื่อมโยงกันอยู่ หากสามารถนำทุกเรื่องมาประติดประต่อเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันได้ ก็จะช่วยให้จดจำได้ดีขึ้น
– เชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับรูปภาพ โดยธรรมชาติแล้วสมองของเรามีความสามารถในการจดจำภาพได้ดีกว่าตัวอักษร ดังนั้นถ้าในบทเรียนมีรูปภาพประกอบ ให้เราเอาเนื้อหาเข้าไปใส่ในภาพนั้นๆ พยายามดูภาพแล้วอธิบายให้ตัวเองเข้าใจให้ได้ ต้องมีรายละเอียดครบถ้วน ทีนี้เวลานึกภาพได้เมื่อไรก็จะได้เนื้อหาติดมาด้วยทุกครั้ง
– เรียบเรียงเนื้อหาให้เป็นคำคล้องจอง ในบางครั้งที่เราต้องจำคำศัพท์เฉพาะทางยากๆ การท่องทีละคำไปเรื่อยๆ นั้นเสียเวลา จำได้ไม่นาน ให้หาวิธีนำคำเหล่านั้นมาร้อยเรียงเป็นเพลงหรือคำคล้องจอง เวลาพูดก็คล่องปาก จำได้ง่ายขึ้น
ตัวช่วยในการเรียนรู้ที่น่าสนใจ และควรลองใช้
นอกจากเทคนิคที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว เราก็ควรมีเครื่องมือที่จะช่วยให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นักเรียนที่สามารถเก็บรายละเอียดของเนื้อหาได้อย่างดีเยี่ยม มักจะมีเครื่องมือที่ถนัดใช้งานอยู่เป็นประจำ อาจจะมีเพียงแค่อย่างเดียวหรือมากกว่านั้นก็ได้ ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
– mind map ใช้ได้เสมอ mind map มันคือแผนที่ที่มีลักษณะเป็นการเชื่อมโยงแบบร่างแห เริ่มต้นด้วยคำสำคัญหรือแกนหลักของเนื้อหา แล้วค่อยๆ แตกแขนงออกมาเรื่อยๆ จนกว่าจะแตกไม่ได้ อาจใช้สีที่แตกต่างกันเป็นตัวช่วยแบ่งหมวดหมู่ให้ดูได้ง่ายขึ้น เครื่องมือตัวนี้ใช้ได้กับทุกวิชา และใช้ได้ในทุกระดับชั้นด้วย
– post it หลายคนนิยมใช้ post it เพื่อเตือนตัวเองว่าอะไรบ้างที่สำคัญ อาจจะเขียนเป็นนิยามสั้นๆ ที่พออ่านแล้วก็สามารถนึกถึงรายละเอียดของเนื้อหาทั้งหมดได้ เวลาใช้ก็แค่เขียนแล้วแปะไว้ในจุดที่มองเห็นได้ง่าย ยิ่งเรามองเห็น และคิดตามบ่อยเท่าไร มันก็ยิ่งซึมลึกเข้าไปในสมองได้ดีเท่านั้น
– เครื่องอัดเสียง มนุษย์เรามีระบบประสาทหลายช่องทาง การมองเห็นด้วยตาก็จะทำให้สมองจดจำได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าตามองเห็นพร้อมกับหูได้ยินเสียง มันจะเพิ่มการจดจำเป็นสองเท่า จำง่ายขึ้น จำเร็วขึ้น อาจจะใช้วิธีการอัดเสียงตัวเองอธิบายหัวข้อวิทยาศาสตร์สักประเด็นหนึ่ง พอจะใช้ก็ให้มองดูภาพที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาแล้วเปิดเครื่องอัดเสียงฟังไปพร้อมๆ กัน ไม่นานก็จะจำได้ขึ้นใจไม่มีลืม